ฉลากสินค้าสำคัญอย่างไร
เมื่อพูดถึง “ฉลากสินค้า” ทุกท่านที่เป็นผู้บริโภคคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่รู้จักฉลากสินค้า เพราะในชีวิตประจำวันผู้บริโภคสามารถพบเห็นฉลากสินค้าได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นฉลากยา ฉลากอาหาร ฉลากเครื่องสำอาง ฉลากเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือฉลากสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย แล้วฉลากสินค้ามีความสำคัญกับผู้บริโภคอย่างไร?
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองไว้ 5 ประการ คือ
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้าซึ่งแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อ บรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า และหมายความรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้น
“ฉลากของสินค้า” จะต้องระบุข้อความดังนี้
ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้าที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร กรณีที่เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาเพื่อขาย จะต้องระบุประเทศที่ผลิตด้วย เช่น โทรทัศน์สี คอมพิวเตอร์ สมุดพิมพ์เขียน น้ำหอมปรับอากาศ ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ผลิตในประเทศมาเลเซีย ฯลฯ
ชื่อผู้ประกอบการหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย
ชื่อผู้ประกอบการหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขายหรือของผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
ต้องแสดงปริมาณ หรือขนาด หรือปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้า เช่น น้ำหนักสุทธิ 2 กิโลกรัม ยาว 5 นิ้ว จำนวน 100 ใบ ขนาดใหญ่พิเศษ ฯลฯ
ต้องแสดงวิธีใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นใช้เพื่อสิ่งใด เช่น ใช้ทำความสะอาดพื้นไม้หรือพื้นกระเบื้อง ภาชนะเคลือบใช้ตั้งบนเตาไฟ ฯลฯ
ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้ เพื่อความถูกต้องในการใช้ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค เช่น ห้ามใช้ของมีคมกับการแซะน้ำแข็งในตู้เย็น ควรเก็บสินค้าไว้ในที่ร่มและไม่เปียกชื้น ฯลฯ
คำเตือน (ถ้ามี)
วัน เดือน ปี ที่ผลิต หรือ วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือ วัน เดือน ปี ที่ควรใช้ก่อน (ถ้ามี) เช่น ผลิตเมื่อ 30 เมษายน 2556 ควรใช้ก่อน 30 เมษายน 2557
ราคา ต้องระบุหน่วยเป็นบาท และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่นด้วยก็ได้
นอกจากนี้สินค้าที่ควบคุมฉลากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้แก่ สินค้าที่ผลิต เพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (กรณีจะเข้าข่ายเป็นโรงงานก็คือใช้แรงงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป หรือใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป) สินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายและคณะกรรมการว่าด้วยฉลากยังมีอำนาจออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก กำหนดให้สินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ สุขภาพร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องในการใช้สินค้าหรือโดยสภาพของสินค้านั้น หรือสินค้าทั่วไปใช้เป็นประจำ
การกำหนดฉลากของสินค้านั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค ในการที่จะทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากได้ สำหรับการแสดงข้อความในฉลากสินค้าต้องใช้ข้อความที่ตรงต่อความเป็นจริงและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ ในกรณีที่ สินค้านั้นๆ มีกฎหมายของหน่วยงานราชการอื่นควบคุมในเรื่องฉลากอยู่แล้ว ก็ให้จัดทำฉลากตามกฎหมายนั้นๆ เช่น อาหารต้องจัดทำฉลากตามพระราชบัญญัติอาหาร ยา ต้องจัดทำฉลากตามพระราชบัญญัติยา เครื่องสำอางต้องจัดทำฉลากตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง ฯลฯ
เมื่อฉลากสินค้าเป็นแหล่งข้อมูลในการอุปโภคและบริโภคของผู้บริโภค ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดสิทธิที่ผู้บริโภคจะต้องได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ดังนั้น เมื่อผู้บริโภคไม่ว่าจะก่อนซื้อหรือก่อนใช้สินค้าหรือบริการ หยุดให้ความสำคัญอ่านฉลากสักนิดเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค
ด้วยความปรารถนาดีจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค